พื้นที่โฆษณา

พื้นที่โฆษณา
ทดลอง..อิอิ..*******ขอขอบคุณ..เวปบล็อกต้นแบบดีๆ..อย่าง Thai E-News ของคนรักประชาธิปไตย ที่เป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดเวปบล็อกใหม่ๆ รวมถึงบล็ิอกนี้ด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บทเรียนเนเธอร์แลนด์สู่การแก้ปัญหาน้ำท่วมไทย


ความเห็นเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เรื่องการบริหารจัดการภัยพิบัติรวมถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วม

นี่คือประสบการณ์ที่ประเทศต้องเผชิญกับเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2496 ซึ่งนายโยอัน บัวร์ เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยเล่าว่า ในขณะนั้นประเทศเนเธอร์แลนด์ไม่ได้เตรียมการรับมือกับภัยพิบัติมาก่อน ทำให้ภาพความเสียหายไม่ต่างกับประเทศไทยในวันนี้ และอาจจะแย่กว่าด้วยซ้ำ

แต่เพียงไม่กี่วันหลังจากเกิดอุทกภัย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กองทัพ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เอ็นจีโอ กลุ่มประชาชนบ้านใกล้เรือนเคียง ก็ร่วมกันจัดการภัยพิบัติอย่างบูรณาการ ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเอง และมองการแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดความสูญเสียกับประชาชน เศรษฐกิจ เกษตรกรรม และสาธารณูปโภคน้อยที่สุด

อีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในภาวะที่เกิดภัยพิบัติ นั่นก็คือการให้ข้อมูล ซึ่งเนเธอร์แลนด์ก็ได้เรียนรู้จากเหตุน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2496 ที่ในขณะนั้นไม่ได้มีการสื่อสารและการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอว่า การให้ข้อมูลใดๆ นั้น รัฐบาลอาจจะเลือกเปิดเผยข้อมูลเพียงบางส่วน หรือเปิดเผยข้อมูลช้าลงสักเล็กน้อย แต่ข้อมูลนั้นจะต้องถูกต้องและน่าเชื่อถือ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก โดยรัฐบาลไม่จำเป็นต้องตอบโต้ข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ทุกครั้ง เพราะควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมมากกว่า

ส่วนเรื่องการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ นายบัวร์กล่าวว่าเป็นเรื่องที่มีปัญหาทุกที่ เพราะไม่มีประชาชนคนไหนอยากทิ้งทรัพย์สินไว้เบื้องหลัง ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เรียนรู้จากภัยพิบัติในอดีตก็คือ แทนที่รัฐบาลจะออกคำสั่งให้ประชาชนอพยพออกจากพื้นที่ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เลือกใช้การโน้มน้าวประชาชนให้เห็นความสำคัญของการย้ายออกจากบ้านแทน โดยการลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชน ถือเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จะต้องทำได้ทุกคน

นอกจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว การวางแผนเพื่อป้องกันน้ำท่วมในระยะยาวก็มีความสำคัญ ในกรณีของเนเธอร์แลนด์ได้มีการวางพนังกั้นน้ำ 3 แนวต่อๆ กัน เพื่อกันแรงปะทะน้ำถึง 3 ชั้น โดยพนังกั้นน้ำนี้จะต้องมีความยืดหยุ่น นั่นคือไม่ได้ขนานกับแม่น้ำไปทั้งหมด แต่ต้องมีบางส่วนที่ตั้งอยู่ห่างจากแนวแม่น้ำสักเล็กน้อย เพื่อให้ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นมีพื้นที่ที่จะขยายออกด้านข้างได้

ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนนั้น แม้ว่าจะมีหลายหน่วยงานที่ควบคุมการใช้น้ำเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น การใช้น้ำเพื่อการเกษตร เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือเพื่อป้องกันน้ำท่วมก็ตาม ทุกๆ ฝ่ายจะต้องหารือกันเพื่อหาข้อสรุปที่เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องมีบุคคลที่ทำหน้าที่ตัดสินใจเด็ดขาด ว่าจะให้ความสำคัญกับด้านใดด้านหนึ่งมากน้อยเพียงไร

สำหรับอุทกภัยในไทยครั้งนี้ เนเธอร์แลนด์ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการน้ำเข้ามาช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำเฉพาะหน้า ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างพนังกั้นน้ำ และผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาว ซึ่งแผนการที่ว่านี้จะออกมาในอีก 5-6 สัปดาห์ข้างหน้า แต่คงเป็นเรื่องของรัฐบาลไทยที่จะตัดสินใจเลือกอนาคตของประเทศเอง

Produced by VoiceTV
by VoiceNews

3 พฤศจิกายน 2554 เวลา 20:24 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น